หลังจากที่คอยน์แมนได้รีวิว Gems เมื่อวันก่อน วันนี้ทางทีมงานได้ออกมาชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ICO ซึ่งมีเสียงตอบรับมากมายจาก community (หรือเสียงด่ากันนะ) ถึงการเลือกใช้ Dutch Auction Style สำหรับ ICO นี้
บางคนก็อาจจะงงว่ามันดีหรือไม่ดียังไง ยังจะลง ICO ที่ใช้การประมูลแบบนี้ดีไหม วันนี้คอยน์แมนจะมาอธิบายให้เพื่อนๆฟังกันนะครับ เพราะในอนาคตเราคงมี ICO รูปแบบนี้มากขึ้นอย่างแน่นอน (วิธีนี้ไม่ได้ใหม่แต่อย่างใด เพราะได้ใช้กับ ICO มาแล้วหลายตัวเช่น Gnosis, Raiden Network และ GoNetwork ก็จะเป็นตัวต่อไป)
รูปแบบการประมูล
หลายคนอาจจะรู้จักการประมูลอยู่แล้ว เวลาเราจะประมูลซื้อของเราจะบิตราคาแข่งกับคนอื่น คนที่ให้ราคาสูงสุดจะได้สินค้าชิ้นนั้นไป การประมูลชนิดนี้เรียกกันว่า English Auction Style
ส่วน Dutch Auction แบบดัดแปลงที่ Gems ใช้นั้นจะทำตรงกันข้าม โดยที่ราคาจะเริ่มต้นของสินค้าจะเริ่มจากสูงสุดๆก่อนแล้วค่อยๆลดลงมาเรื่อยๆ ซึ่งผู้ซื้อสินค้าผ่าน Dutch Auction จะได้ของราคาเดียวกันซึ่งก็คือราคาต่ำสุด ณ ตอนที่จบการประมูล กฏในการจบการประมูลก็คือ จำนวน ETH ที่นักลงทุนลง = จำนวนเหรียญ Gems ที่เสนอขาย x ราคาสุดท้ายของเหรียญในการประมูล (เราเรียกผลคูณนี้ว่า Implied value of offered supply)
มาดูตัวอย่างกันครับ
ถ้า Gems มีเหรียญมาขายทั้งหมด 1,000 Gems และราคาเริ่มต้นคือ 2 ETH/Gems
- หมายความว่า 2 ETH จะแลกได้ 1 Gems
- Cap ของ Gems จะเริ่มที่ 2,000 ETH (2 * 1,000)
- A เริ่มซื้อโดยการส่ง 500 ETH ไปที่ auction smart contract
- ตอนนี้โปรเจคจะมีเงินทุน 500 ETH ซึ่งยังไม่ถึง Implied value of offered supply หรือพูดง่ายๆว่าขาดอีก 1,500 ETH ถึงจะครบ Cap และปิด Auction ได้
- ในเมื่อเงินระดมทุนยังไม่ถึง Cap การประมูลจึงดำเนินต่อ
ต่อมาราคาจะลดลงไปที่ 1.5 ETH/Gems
- Cap ก็ลดตามกลายเป็น 1,500 ETH
- B เข้ามาซื้อ 200 ETH ดังนั้นตอนนี้โปรเจคจะได้รับ ETH ทั้งหมดเป็น 500 + 200 = 700 ETH
- แต่ 700 ETH ก็ยังขาดอีก 800 ETH ถึงจะครบตาม Cap ใหม่นี้ การประมูลจึงดำเนินต่อ
ต่อมาราคาลดลงไปอีกที่ 1 ETH/Gems
- Cap ก็ลดตามกลายเป็น 1,000 ETH
- C เข้ามาซื้อ 300 ETH ทำให้ ETH ที่โปรเจคได้รับทั้งหมดคือ 500 + 200 + 300 = 1,000 ETH ซึ่งครบตาม Cap พอดี
- ดังนั้นราคาและ Cap สุดท้ายของ ICO นี้คือ 1 ETH ต่อ Gems และ hard cap 1,000 ETH
- A B และ C ทุกคนจะได้ราคาเดียวกัน ซึ่งคือราคาสุดท้ายที่ต่ำสุดนั้นเอง
กลับกัน ถ้าตอนที่ราคาอยู่ที่ 1.5 ETH/Gems หรือ 1,500 ETH แล้วมีคนยอมซื้อให้ครบ 1,500 ETH การประมูลจะจบทันทีที่ราคานนั้น คนที่เหลือก็จะอด)
แปลว่าถ้าความต้องการสูงมากแล้วคนยอมซื้อเหรียญจนหมดในราคาสูงๆ ICO นี้ก็จะจบด้วย Hard cap ที่สูงตาม
ทำไมถึงเลือกการประมูล
เหตุผลหลักๆแล้วคือมันแฟร์ครับ
พูดง่ายๆก็คือ ไม่ต้องแย่งกัน ได้เหรียญกันทุกคนอย่างแน่นอน แถมได้ในราคาที่เหมาะสม
เมื่อเทียบกับการที่ต้องลิมิต individual cap หรือจำนวนที่ลงได้ต่อคนให้ต่ำๆ หรือเทียบกับ Gas war ที่ทุกคนต้องจ่ายค่า Gas แพงๆเพื่อให้เงินตัวเองถึงก่อนคนอื่น วิธีนี้ก็เป็นทางออกที่ดี
มันไม่ดีต่อนักลงทุนอย่างไร
- ทำให้โอกาศทำกำไรหลายๆเท่านั้นต่ำลง นั้นเป็นเพราะการระดมทุนแบบนี้มีแนวโน้มทำให้ Cap หรือมูลค่าเริ่มต้นในตลาดสูง (สมมุติว่า Cap ของ Gems นั้นสามารถไปได้ $500m ถ้า Auction จบลงที่ $100m แปลว่ามูลค่าเพิ่มขึ้นมาแค่ 5เท่า แต่ถ้า Gems นั้นตั้ง Hard cap เหมือนโปรเจคอื่นๆเช่นที่ $30m เราถึงมีสิทธิได้กำไรถึง 15เท่า จะเห็นได้ว่า cap ยิ่งต่ำยิ่งดีสำหรับพวกเรา)
- ลด Demand ความต้องการตอนเข้าเทรด แม้ว่ามันดูแฟร์ ทำให้ทุกคนได้เหรียญก็จริง แต่อย่าลืมว่า **ถ้าทุกคนที่อยากได้เหรียญก็ซื้อกันไปหมดแล้ว พอเข้าตลาด เข้าเวปเทรด ใครจะเข้ามาแย่งซื้อดันราคาให้**
- ได้เงินมากกว่าที่จำเป็น อย่าลืมว่าโปรเจคเหล่านี้ขอเงินไปเพื่อสร้างแพลตฟอร์ม ซึ่งทางทีมงานควรรู้เรื่องจำนวนเงินทุนที่ต้องใช้คร่าวๆ แล้วจะแบ่งไปทำอะไรบ้าง ไม่ใช่เอาเงินมาเยอะๆก่อน แบบนี้แสดงได้ถึงความโลภของทีมงานระดับนึงเลยทีเดียว
สรุป
ต้องคอยดูดีๆ ทางที่ดีรอ Auction เปิดไปซักพัก ดู Cap ว่าเท่าไหร่แล้วตัดสินใจก็ได้ครับ ถึงแม้ว่าอาจจะพลาดโบนัส แต่ก็ยังดีกว่าได้ตัว Cap สูงๆแล้วกำไรต่ำนะครับ
ถ้าสมมุติว่าการประมูลใกล้จบโดยที่ Cap ไม่สูงมาก เช่นต่ำกว่า $50m มันก็ไม่แย่มาก ยังมีพื้นที่ในการเติบโต (ตัวอย่างเช่น Raiden Network ที่ช่วงนั้นไม่ค่อยมีคนลงเพราะตลาดโดยรวมแย่ หรือคนงงเรื่อง Auction สุดท้ายจบที่ประมาณ $15m น้อยแบบนี้มันถึงน่าลง ใครลงก็ได้กำไรเกิน 10เท่ากันไปแล้วครับ) หลักการนี้นำไปใช้กับ ICO ไหนที่ทำการประมูลได้หมดนะครับ
สำหรับคอยน์แมนแล้ว ถ้า Cap มันออกมาสูง คอยน์แมนคงไม่ลงครับ เนื่องจากมีตัวอื่นที่ Cap ต่ำๆโอกาสโตสูงให้เลือกอีกเยอะครับ
แม้โมเดลธุรกิจดี ทีมงานดูน่าเชื่อถือ แต่เราก็อย่าลืมเรื่องศักยภาพในการทำกำไรด้วยนะครับ เรายังไม่เห็นว่า Startup ตัวนี้จะไปได้ไกลจริงๆแค่ไหน หาก Cap ที่ออกมามันสูงแล้วมันทำผลงานออกมาไม่ได้ตามความคาดหวังของนักลงทุน มันมีความเสี่ยงสูงมากกว่าตัวที่ Cap ต่ำเยอะครับ
ติดตามบทความใหม่ๆได้ทางเพจคอยน์แมนครับ