วิเคราะห์เหรียญ

Holochain – เมื่อ Blockchain ไม่ใช่คำตอบ! (ตอนที่ 1)

ช่วงหลังมานี้หลายๆคนอาจจะเริ่มได้ยินถึงเหรียญที่ชื่อว่า Holo หรือ HOT กัน ทั้งจู่ๆได้ลิสบน Binance อีกทั้งราคาพุ่งเอาๆไป 20-28x ETH rate แล้ว ในขณะที่ทั้งตลาดนั้นแดงเถือก มันคือเหรียญอะไรกันแน่ ทำไมคนถึงให้ความสนใจกับมัน?

รู้หรือไม่!?

  • Concept ของ Holochain นั้นเริ่มคิดกันมาก่อนที่ whitepaper ของบิตคอยน์จะออกเสียอีก
  • Holo นั้นขาย Public sale อย่างเดียว ไม่มีรอบพิเศษหรือโบนัส
  • Holo ขาย Public sale เป็นเวลา 1 เดือน ขายไม่หมดจนกระทั่งวันสุดท้าย
  • ETH จากกระเป๋าของผู้ก่อตั้ง Ethereum (ไม่รู้คนไหนนะ) ได้ถูกโอนมาซื้อ Holo ใน Public sale
  • เหรียญ Holo ทั้งหมดถูกปล่อยมาหมดแล้ว ไม่มีล็อคอัพ (Circulating supply = Total supply)
  • Holo token ที่ตอนนี้เป็น ERC-20 จะถูกเปลี่ยนเป็น Holo fuel หลังจากระบบใช้งานได้ ซึ่ง Holo fuel นั้นไม่ใช่ token แต่เป็นระบบใหม่ที่เรียกว่า crypto-accounting (Binance ประกาศจะซัพพอร์ต fuel)

Blockchain killer? Holochain คืออะไร

พูดง่ายๆ Holochain คือระบบ Infrastructure ชนิดนึง โดยเป้าหมายหลักของมันคือการเป็นแพลตฟอร์มที่ไว้สำหรับสร้าง Distributed App โดยเฉพาะ ดูเผินๆอาจจะงงว่างี้มันต่างกัน Ethereum และแพลตฟอร์มอื่นๆยังไงใช่ไหมหละครับ บอกไว้ก่อนได้เลยว่า Holochain ไม่ใช่ Blockchain 1.0 2.0 3.0 4.0 เหมือนโปรเจคอื่นๆในตลาด แต่มันเป็นเทคโนโลยีใหม่แบบหนึ่งที่มีสิทธิจะทำให้ Distrubuted App นั้นถูกใช้งานได้จริงๆใน Mainstream

รื้อ Blockchain พบกับระบบที่ไม่ต้องใช้ Consensus

ก่อนอื่นเลย เราต้องเข้าใจก่อนว่าทำไม Blockchain ถึงต้องมี Consensus

นั้นเป็นเพราะ

  • Blockchain เป็น ledger หรือบัญชีข้อมูลชนิดหนึ่งที่กระจายให้ทุกคนถือก๊อปปี้เดียวกัน ดังนั้นเราต้องมี Consensus เพื่อให้ข้อมูลตรงกันทั้งระบบ
  • Public Blockchain จะใช้ Consensus ต่างๆเช่น PoW PoS เพื่อสร้างระบบเศษฐกิจที่บังคับให้คนนั้นซื่อสัตย์ ตรวจสอบข้อมูลอย่างถูกต้อง แลกกับรางวัล Block reward (เหรียญ)

ผลก็คือ ทุกแพลตฟอร์มบน Blockchain จะพบกับปัญหา scaling เนื่องจากการจะ process ข้อมูลอะไรก็ตามในระบบ ได้ Node ทั้งหมดต้องเห็นตรงกันเป็น Consensus ใช่ไหมครับ ยกตัวอย่างเช่นถ้าเรารันแอปบน Ethereum ทุก Node บนนั้นที่มีมากกว่า 10,000 Nodes ต้องเก็บก๊อปปี้ข้อมูลนั้นและมี Consensus กันทั้งระบบ มันก็เลยเกิดปัญหาที่ว่าถ้าเราต้องการ process ข้อมูลมากๆหรือโอนเงินรัวๆหละ มันก็เลยมีปัญหาเรื่อง scaling อย่างที่เราเห็น เพราะเราแชร์ One world computer ใช่ไหมหละครับ

Holochain นั้นแตกต่างออกไป

Holochain ใช้คอนเซ็ปที่เรียกว่า Agent Centric

ก่อนอื่นเลยเราต้องเข้าใจก่อนว่า โลกอินเตอร์เน็ทในปัจจุบัน รวมทั้ง Blockchain ล้วนแต่เป็น Data Centric ทั้งนั้น มันเปรียบเสมือนกับพื้นที่ที่เก็บข้อมูลของทุกคนไว้ในที่ๆเดียว คนที่อยากจะใช้งานก็จะเข้าไปในพื้นที่นั้น

กลับกันใน Agent Centric มันเปรียบได้เสมือนธรรมชาติของมนุษย์เรา ที่ทุกคนจะมีมุมมองของตัวเอง เราเห็น จดจำ และกระทำเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเราหรือผ่านหูผ่านตาเราเท่านั้น เราไม่จำเป็นต้องเอาข้อมูลเหล่านี้ไปฝากกับพื้นที่ๆหนึ่ง

ยกตัวอย่างง่ายๆ

  • ถ้าเปรียบเทียบกับบล็อคเชน เวลาเราจะโอนเงินหากัน เราต้องยึดข้อมูลกลางบนบล็อคเชน(ที่ทุกคนมีเหมือนกัน) ที่เก็บข้อมูลของทุกคนไว้ว่าใครมีเงินเท่าไหร่ เราทำการโอนเงินกันและอัพเดทข้อมูลในพื้นที่นั้น
  • แต่สำหรับ Agent Centric แบบ Holochain แล้ว เราจะรู้อยู่แล้วว่าเรามีเงินเท่าไหร่ ไม่ต้องไปเชคข้อมูลกลางที่ไหน เวลาโอนเงิน เราก็อัพเดทกับแค่คนที่โอนเท่านั้นเอง ต่างคนต่างจำและอัพเดทบัญชีตัวเองไป คล้ายกับพวก Block-lattice ของเหรียญอย่าง Nano

หรือพูดง่ายๆอีกอย่างก็คือ ตัวเราจะเป็นศูนย์กลางของข้อมูลเราเอง ไม่ได้เอาข้อมูลไปฝากไว้ที่พื้นที่กลางที่ไหน

ซึ่งแอปบน Holochain จะเป็นวงหรือ chain ของมันเอง และคนที่จะเห็นก็คือคนที่เข้าร่วมในแอปนั้นเท่านั้น เช่นตัวอย่างด้านล่าง App A, App B, App C จะติดต่อกับ Peer ที่ร่วมวงในแอปนั้นเท่านั้น เหมือนที่เรามี Line มาหลายๆกรุ้ป จะกรุ้ปเพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนทำงาน เป็นต้น คนที่ไม่ได้อยู่ในกรุ้ปนั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องเห็นแชทในกรุ้ป

ตัวอย่างการทำงานของ Holochain

นึกภาพว่าถ้าเรามี dApp เกมเล่นไพ่กัน เราจำเป็นไหมที่ต้องให้ทั้ง 10,000 Nodes รู้ข้อมูลการเล่นไพ่ของพวกเรา

ไอเดียของ Holochain ก็คือ ถ้าเราทำแอปเล่นไพ่ เราก็รู้กันแค่สำหรับคนเล่นก็พอ

  • ถ้ามีคนคิดโกงหละ? เหมือนเราอยู่ในวงไพ่ เราก็ไม่อยากให้ใครโกงเรา ทุกคนช่วยกันดูกันอยู่แล้ว ถ้ามีใครพยายามที่จะโกง คนในวงไพ่ก็จับได้ไม่ยากใช่ไหมหละครับ เช่น สมมุติเรามีไพ่ A โพธิ์ดำแค่ใบเดียวในกอง มีคนโกงพยายามบอกว่าเค้ามี สุดท้ายพอจบเกม เราก็รู้ว่า A โพธิ์ดำอยู่ที่ใครกันแน่ คนโกงก็ถูกเปิดโปงและโดนเตะไป (เหมือนกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเราที่ตรวจเจอสิ่งแปลกปลอมแล้วจัดการกับมัน)
  • ที่สำคัญที่สุดคือ ในเมื่อทุกๆคนในวงไพ่มีส่วนร่วม ทั้งเล่นและทั้งช่วยกันเช็คความถูกต้อง พูดง่ายๆก็คือทุกคนทั้ง contribute และ give back ไปในตัว ผลก็คือไม่จำเป็นต้องมี reward หรือรางวัลพิเศษให้ Node อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องมาช่วยตรวจสอบข้อมูลตรงนี้

ซึ่งถ้าเปรียบเทียบก็คล้ายกับ Torrent ที่เราใช้กันแหละครับ เวลาเราโหลดไฟล์ เราก็อัพโหลดมันกลับไปในขณะเดียวกัน

ผลก็คือ

  • ไม่ต้องมี Global Consensus ที่ต้องให้ทุก Node ในระบบเห็นพ้องกัน 
  • ไม่เสียค่า transaction หรือ gas fee เวลาทำธุรกรรมหรือใช้แอป (เพราะไม่ต้องให้รางวัลใครหรือตอบแทนคนนอก)
  • Scale ได้แทบไม่จำกัด เพราะเพราะแต่ละแอปถ้ามีคนใช้เยอะ ก็เหมือนมี Node เยอะขึ้นตามมา  (เหมือนกับ Torrent ยิ่งคนเข้าร่วมเยอะ Peer จะยิ่งเยอะ Network ยิ่งใหญ่ยิ่งดี)

Holochain และ Holo ต่างกันอย่างไร?

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ Holochain คือ Infrastructure ชนิดหนึ่งที่เราสามารถนำมาสร้าง dApps กันได้ โดยคนที่ใช้งาน dApps จะเหมือนอยู่ในวง dApp ของตัวเอง โดยในนั้นเราถือเป็นทั้งผู้ใช้และผู้ดูแล เราก็เลยใช้งานได้ฟรี และไม่ต้องมี Cryptocurrency ไม่มีต้องมีการขุด

แต่!! สมมุติเรามี Facebook dApp ที่สร้างบน Holochain คนที่จะมาใช้งานได้ก็ต้องเข้ามาอยู่ในวง dApp นี้ใช่ไหมครับ? ถ้าเกิดเค้าลงซอฟแวร์ Holochain นี้ไม่เป็น จะทำยังไงหละ

Holo คือคำตอบสำหรับคนทั่วไป

คอยน์แมนกล้าพูดเลยครับว่า คนส่วนมากไม่มานั่งลงซอฟแวร์พิเศษเพื่อใช้งาน dApps หรอกครับ คนจะเคยชินกับการเปิด www บน browser เพื่อเข้าแอปมากกว่า เหมือนกับที่เราพิม facebook.com นั้นแหละครับ

แต่นั้นคือสิ่งที่ Holo เข้ามาแก้ สำหรับคนที่ต้องการมาใช้ Facebook dApp อันนี้บน Holochain แต่อยากเข้าผ่านเวปปกติ เราก็สามารถเข้าผ่าน Holo network นี้ได้ โดยมีกลุ่มคนที่เปิดคอมเป็น Holo host คล้ายกับเซิฟเวอร์ที่เชื่อมต่อกับ Holochain ให้ เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงแอปนั้นๆได้จาก browser ที่เค้าคุ้นเคย

**ยกตัวอย่างง่ายๆอย่าง Torrent ที่เราสามารถดาวน์โหลดและอัพโหลดไฟล์หรือหนังได้ “ถ้าเรามีแอป Torrent ในคอมของเรา” ทีนี้ถ้าผมจะดูหนังโดยตรงจาก Torrent เลยบนเวป โดยที่ไม่มีแอป Torrent และไม่จำเป็นต้องโหลดหนังมาเข้าเครื่อง เวปนั้นก็ต้องตั้ง hosting ที่ด้านหลังเชื่อมกับ Torrent ให้ผม เพื่อที่จะให้ผมสามารถดูหนังผ่านเซิฟเวอร์ของเค้าได้ (เหมือนเป็น Node ให้ผม)

Holo fuel สกุลเงินที่จะมารัน The New Internet

ถ้าเราใช้ซอฟแวร์ Holochain แล้ว contribute ให้กับระบบ เราก็ใช้งานมันได้ฟรีใช่ไหมครับ แต่สำหรับคนทั่วไปที่เข้าผ่านเวปธรรมดา เข้าผ่าน Holo host มันก็ต้องมีค่าใช้จ่ายแลกกับค่าแรงที่คนกลุ่มนี้มาเปิดเซิฟเวอร์ให้เราเข้าใช้งาน

ซึ่งพูดง่ายๆว่าตัว Holo host เนี่ย เปิดให้ทุกคนบนโลกสามารถเข้ามาช่วย host ตัว Holo network ได้ และแน่นอน เราจะได้ผลตอบแทนค่า hosting เป็น Holo fuel

โดยที่ Holo Fuel ที่เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงในระบบนั้นเอง ซึ่ง Fuel ที่ได้รับก็ไม่ต่างกับเวลาเราไป host เซิฟเวอร์ทำเวปของเราปกติเลยครับ เราจ่ายเท่ากับการใช้งานเซิฟเวอร์นั้นจริงๆ

โดยที่การจ่ายนี่เป็นได้ทั้งสองแบบคือ

  • คนที่ใช้งาน dApps เป็นคนจ่าย
  • คนที่สร้าง dApps เป็นคนจ่าย (เหมือนกับเราเป็นเจ้าของ dApp แล้วต้องการให้คนมาใช้ เราก็ควรจ่ายค่า hosting ใช่ไหมหละครับ)

สรุป

อย่าลืมนะครับ เป้าหมายของพวกเราไม่ใช่การนำ “Blockchain” มาใช้ แต่เป็นการปฏิวัติสิ่งที่เรียกว่า Trust หรือความเชื่อใจ การสร้าง Decentralized/Distributed Economy ให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ โยกย้ายมูลค่าได้โดยไม่ต้องมีตัวกลางอีกต่อไป โลกของ Peer-to-Peer (P2P) application ที่แท้จริง

ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเทคโนโลยีเดียวเช่น Blockchain หรอกครับ ส่วนตัวผมถึงสนับสนุน Holochain และเทคโนโลยีอื่นๆที่ทำให้เราไปถึงโลกใหม่นี้ได้

คราวหน้าเดี๋ยวจะมาต่อกันในตอนที่ 2 เรื่องของสกุลเงิน Holo fuel นะครับ โดยเนื้อหาจะรวมถึงหัวข้อเช่น

  • Holo ไม่ใช่ Cryptocurrency แล้วมันคืออะไร
  • แก้ปัญหา Double spending โดยไม่มี Consensus

สำหรับคอยน์แมนแล้ว Holo เป็นโปรเจคที่น่าสนใจมากๆ ที่กล้าคิดต่างไม่น่าเบื่อเหมือนโปรเจคสาย Infra ส่วนมากเลยครับ

 

ติดตามบทความใหม่ๆได้ทางเพจคอยน์แมนครับ

https://www.facebook.com/coinmanth/

หรือ Short update ที่ Telegram Channel นะครับ