มุมมองตลาดและเทคโนโลยี

เทียบกันหมัดต่อหมัด Security Token vs. Utility Token

ในปีที่ผ่านมา เพื่อนๆน่าจะได้ยินกันมาบ้างถึงคำว่า Security Token & Utility Token แต่อาจสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่

มันไม่ใช่ Cryptocurrency เหมือนกันทั้งคู่หรือ มันต่างกันอย่างไร วันนี้คอยน์แมนจะมาอธิบายให้เข้าใจกันง่ายๆนะครับ

Utility Token คืออะไร?

ถ้าเอาตามนิยามนะครับ Utility Token คือเหรียญ ที่เอาไว้ใช้เพื่อแลกกับบริการหรือการใช้งานระบบนั้นๆ

หลายคนอาจคุ้นเคยกับโมเดลของ Utility Token กันแล้ว หรือถ้าให้เปรียบเทียบง่ายๆ มันก็คือ“น้ำมันดิจิตอล”นั้นเอง

ตัวอย่างนะครับ ถ้าเราลองย้อนกลับไปในสมัยที่เรายังไม่มีเครื่องยนต์ แล้วผมบอกว่าผมจะสร้างเครื่องยนต์แรกบนโลก ผมก็สามารถโม้ไปได้ว่าเครื่องยนต์นี้จะเอาไปสร้างสิ่งของที่มีประโยชน์ได้สารพัด เช่น รถยนต์ เรือ เครื่องบิน ยานอวกาศ

ทีนี้ผมก็ต้องการเงินทุนใช่ไหมครับ ผมก็เลยคิดโมเดล ICO ที่ว่า

  • ผมจะขายน้ำมันของเครื่องยนต์นี้ให้ก่อน ในราคาถูกมากๆ แลกกับเงินทุนที่จะเอามาสร้างเครื่องยนต์นี้ 
  • ข้อแม้ก็คือ เครื่องยนต์ผมต้องใช้น้ำมันชนิดนี้เท่านั้น หมายความว่า ถ้ามีคนเอาเครื่องยนต์ไปใช้สร้างสิ่งต่างๆแล้วคนใช้จริง น้ำมันก็จะมีความต้องการสูงขึ้น มูลค่าสูงขึ้นตาม

ฟังดูแล้วคุ้นๆไหมครับ จริงๆแล้วตัวอย่างนี้ก็คล้ายกับ Ethereum นี่เอง ที่ตัวเหรียญเป็นเสมือนน้ำมันดิจิตอล ที่ไว้ใช้กับเครื่องยนต์ดิจิตอล ซึ่งเครื่องยนต์นี้ก็เอาไปสร้าง App ต่างๆได้

มูลค่ามากจากไหน?

น้ำมันดิจิตอลนี้ควรจะมีมูลค่าก็ต่อเมื่อมีคนเอาเครื่องยนต์ไปสร้าง App แล้วมีคนใช้กันจริงๆ

แต่!! ในความเป็นจริงแล้ว มันยังไม่มีคนเอาไปสร้างอะไรเท่าไหร่เลย มีแต่คน Speculate หรือคาดการณ์ว่าเครื่องยนต์นี้จะฮิตใช้กันทั่วโลก เข้ามาเทรดเก็งกำไรกันหรือนักลงทุนที่เชื่อมั่นว่าเครื่องยนต์ดิจิตอลนี้จะไปไกลจริงๆในอนาคตเข้ามาซื้อเก็บไว้มากกว่า

สิ่งนี้แหละคือตัวทำให้เหรียญ Utility Token อย่าง Ethereum และอื่นๆมีมูลค่าขึ้นมา

Use case ที่ไม่เหมาะ

เราลองมาเปลี่ยนตัวอย่างกันบ้าง

ถ้าคอยน์แมนเปลี่ยนจากการสร้างเครื่องยนต์มาเป็นสร้างห้างสรรพสินค้า มันจะเป็นอย่างไร

ไม่ต่างจากเดิมครับ ผมก็ยังสามารถทำการระดมทุน ICO เพื่อให้เหรียญ Utility Token นี้ได้ โดยบอกว่า

  • ห้างผมจะยิ่งใหญ่มาก (ก็ต้องพูดให้ดูดีไว้ก่อนใช่ไหมละครับ)
  • คนจะมาเช่าเปิดร้านเสื้อผ้า ทำโซนอาหาร จัดกิจกรรม
  • มีข้อแม้อย่างเดียว พอห้างผมสร้างเสร็จ ทุกคนจะต้องใช้เหรียญผมในการซื้อทุกอย่างในห้างนี้

พอเจอข้อสุดท้ายนี้ ก็งงๆใช่ไหมครับ จริงอยู่ว่ามันเป็นไปได้ที่ผมจะขายเหรียญให้นักลงทุนถูกๆ พอห้างเปิดคนมาใช้จริง เหรียญก็อาจมีมูลค่าสูงขึ้น แต่มันก็มีปัญหาตามมาว่า

  • ข้าวหนึ่งจานในห้างจะราคาขึ้นตามรึเปล่า
  • เราจะควบคุมหรือยึดมูลค่ายังไงให้ราคาไม่เหวี่ยง (พ่อค้าแม่ค้าไม่ต้องการมูลค่าเหวี่ยงเพราะต้นทุนเค้าเป็นเงินบาทที่มูลค่าคงที่)
  • ไม่มีความสะดวกสบายในการจ่ายเงิน เพราะต้องมานั่งแลกเหรียญนี้ทุกครั้ง

เราจะเห็นได้ว่าโมเดลของ Utility Token นี้ดูไม่ค่อยเหมาะกับรูปแบบโปรเจคประเภทนี้ แต่ไม่ต้องเป็นห่วงไป เราไม่จำเป็นต้องฝืนใช้โมเดลนี้ เพราะเรายังมีสิ่งที่เรียกว่า Security Token

Security Token คืออะไร?

Securities นั้นคือหลักทรัพย์ทางการเงินที่สามารถเทรดหรือซื้อขายได้

หลายคนอาจสงสัยว่าหลักทรัพย์ทางการเงินในปัจจุบันคืออะไรบ้าง มาดูตัวอย่างกันครับ จริงๆมันเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ที่ดิน ทอง กองทุน

ดังนั้น ตามนิยามแล้ว Security Token ก็คือหลักทรัพย์ทางการเงินที่ถูกเปลี่ยนให้มาอยู่ในรูปแบบเหรียญ Crypto นั้นเอง

ตัวอย่างของ Security Token

เราลองมาเปรียบเทียบกับตัวอย่างการสร้างห้างสรรพสินค้าเมื่อกี้นะครับ

เราพอทราบแล้วว่าโมเดลธุรกิจแบบนี้ใช้ Utility Token ให้คนมาซื้อเหรียญใช้จ่ายในห้างอาจจะดูไม่เหมาะนัก แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนตามนี้หละ

  • ห้างสามารถรับเงินบาทได้ปกติ
  • เหรียญของห้างนี้ไม่ต้องเอาไปซื้อของในห้างอีกต่อไป
  • กลับกัน เราจะปันผลให้ผู้ถือเหรียญเป็นมูลค่า 50% จากกำไรของห้าง
  • ยิ่งคนมาเช่าพื้นที่ในห้างเยอะ แปลว่าผู้ถือเหรียญก็จะได้เงินปันผลเยอะขึ้น

ซึ่งคุณสมบัติของ Security Token นั้นไม่ได้หยุดแค่นี้ เราสามารถตั้งได้ว่าผู้ถือเหรียญจะได้อะไร พูดง่ายๆก็คือ เราสามารถสร้างหลักทรัพย์ทางการเงินชนิดใหม่สำหรับโปรเจคหรือธุรกิจได้

ไม่ว่าจะเป็นการ

  • ให้หุ้นส่วนของบริษัทจริงๆ
  • ให้อำนาจในการโหวต (จะเหมือนผู้ถือหุ้นเลยก็ได้ หรือว่าโหวตเฉพาะบางส่วนของธุรกิจ เช่นโหวตว่าเอาร้านค้าอะไรเข้ามาได้)
  • ให้เงินปันผล จะกี่เปอร์เซนต์ก็ได้ จะให้บ่อยครั้งแค่ไหนก็ได้ (รายวัน รายเดือน รายปี)

มูลค่ามาจากไหน?

Security Token นั้นต่างกับ Utility Token ตรงที่มูลค่ามันพอจะหาพื้นฐานที่เหมาะสมได้ เราสามารถชี้แจงถึงประโยชน์ สิ่งที่ผู้ถือเหรียญจะได้รับอย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งนี้เราเอาไปคำนวณมูลค่าที่มันควรจะเป็นได้

ในขณะเดียวกัน เราสามารถ Speculate คาดการณ์มูลค่าว่าอนาคตธุรกิจนี้จะเติบโตได้ดี ปันผลให้ผู้ถือเหรียญจะสูงขึ้น มูลค่าเหรียญควรจะสูงขึ้นตาม คล้ายหุ้นนั้นเอง

Use Case อื่นๆ

นอกจาก Security Token จะเป็นหลักทรัพย์ทางการเงินชนิดใหม่ มันยังสามารถนำหลักทรัพย์ที่มีอยู่แล้วเช่นที่ดิน ทอง หนี้ หุ้น มาแปลงสภาพเป็นเหรียญให้เราเทรดกันได้ (เรียกว่า Asset Tokenization ซึ่งอันนี้ไว้วันหลังคอยน์แมนจะมาอธิบายต่อในบทความต่อไปนะครับ)

สรุปเปรียบเทียบ Utility Token และ Security Token

สรุปง่ายๆก็คือ มันไม่ได้มีใครดีกว่ากันหรอกครับ ทั้งคู่ต่างมีข้อดีข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่าเรานำไปใช้ทำอะไร ดังเช่นตัวอย่างที่ให้ไปในบทความนี้

โมเดลของ Utility Token นั้น:

  • เหมาะกับ Blockchain platform หรือ protocol 
  • Utility Token เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ในโลกดิจิตอลโดยเฉพาะ
  • เราเปรียบเทียบ Utility Token ได้กับน้ำมันหรือคูปองที่ไว้ใช้บนแพลตฟอร์ม
  • ตัวเหรียญ Utility Token ส่วนมากมีไว้ขับเคลื่อนเศษฐกิจดิจิตอลของแพลตฟอร์มนั้น เช่นใช้เป็น Incentive/Reward หรือรางวัลให้กับคนที่เข้ามาช่วยดูแลระบบ

กลับกัน Security Token นั้นเข้ามาเพื่อ:

  • สร้างหลักทรัพย์ทางการเงินชนิดใหม่ที่ผู้สร้างจะเป็นคนกำหนดถึงสิทธิประโยชน์ของเหรียญนั้น (เช่น ปันผล โหวต และอื่นๆ)
  • หรือเป็นการนำหลักทรัพย์ที่มีในโลกอยู่แล้วแปลงมาเป็นรูปแบบเหรียญเพื่อได้ benefit หรือผลประโยชน์ของการเป็นเหรียญ Crypto

มาถึงตอนนี้ เราเริ่มรู้จัก Security Token กันแล้ว ต่อไปเราจะมาเจาะลึกกันมากขึ้นถึงตัว Security Token นะครับ ว่าทำไมมันถึงมันสำคัญอย่างไรต่อตลาด Crypto และเราจะเกาะเทรนด์นี้ได้อย่างไรบ้าง

 

ติดตามบทความใหม่ๆได้ทางเพจคอยน์แมนครับ

https://www.facebook.com/coinmanth/

หรือที่ Telegram Channel และ LINE@ ครับ