มุมมองตลาดและเทคโนโลยี

JP Morgan Coin กับการดิ้นรนที่เปล่าประโยชน์ของธนาคาร

ไม่นานมานี้ JP Morgan ได้ประกาศเปิดตัว JP Morgan Coin ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นในวงการ Crypto กันอย่างมาก แต่ในบทความนี้ เรามาทำความเข้าใจกันดีกว่าว่า ทำไม JP Morgan Coin ถึงเป็นการพัฒนาที่ผิดทางและตรงข้ามกับสิ่งที่ Cryptocurrency ควรจะเป็นครับ

JP Morgan Coin คืออะไร

JP Morgan Coin คือเหรียญที่ JP Morgan หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาเป็นคนสร้าง โดย 1 เหรียญจะเท่ากับ $1 US Dollar พูดง่ายๆก็คือ มันเหมือนกับเหรียญ USDT หรือ US Dollar Tether ที่ต้องมีเงินดอลลาร์ฝากธนาคารไว้ค้ำมูลค่าเหรียญ 1ต่อ1 นั่นเอง ทีนี้ข้อแตกต่างก็คือ ทาง JP Morgan ก็เป็นธนาคารที่ออกเหรียญชนิดนี้เองเลย (ในเมื่อเค้าก็มีเงินในธนาคารตัวเองอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่งในฐานะเป็นธนาคารอีกด้วย)

ความหวังของการเป็นระบบ Settlement ให้การเงินโลก

จุดประสงค์ในการสร้าง JP Morgan Coin นั้นไม่ใช่ให้คนทั่วไปอย่างเราเอาไปใช้กัน แต่มีไว้เพื่อความสะดวกของการโอนเงิน เช่นการโอนเงินข้ามประเทศที่เราสามารถ Settle ธุรกรรมได้ทันทีหากทั้งสองฝ่ายใช้ระบบเดียวกันและยอมรับ JP Morgan Coin เหมือนเราโอน USDT หากัน คนรับสามารถเชื่อใจว่าเค้าได้รับ USDT จริง และ USDT ที่มีมูลค่า $1 จริงๆ โดยที่ไม่ต้องรอธนาคาร 10 แห่งช่วยกันเคลียร์ธุรกรรมหลายวัน (ขอบคุณ Blockchain) แต่! ประเด็นคือว่า เหรียญนี้จะอยู่บน Private Blockchain ของ JP Morgan ซึ่งหมายความว่า ใครจะโอน จะรับเหรียญนี้ ต้องเชื่อมกับระบบของ JP Morgan เท่านั้น **Private Blockchain ในที่นี้คือ Quorum ซึ่งเป็นระบบที่นำ Ethereum มาดัดแปลง โดยเจ้าของระบบจะเป็นคนควบคุม access ต่างๆได้

ต่างยังไงกับ Ripple?

โดยรวมแล้วไอเดียไม่ต่างกันมาก ทั้งคู่มีจุดประสงค์ต้องการสร้าง Settlement Network ให้สถาบันการเงินทั่วโลกมาใช้เพื่อที่จะ “กินรวบ” และสร้างมูลค่าให้กับระบบของตัวเอง จุดต่างคือ:

  • Ripple ไม่ใช่ธนาคาร ดังนั้นกลุ่มธนาคารจะกล้าใช้มากขึ้น (ไม่ได้ถือว่าไปอุดหนุนสินค้าคู่แข่ง)
  • Ripple แม้จะไม่ได้ Decentralized แต่ก็ยังมีการกระจาย Node ให้องค์กรหลายประเภท ไม่ได้มีธนาคารใดเป็นเจ้าของอย่างระบบของ JP Morgan

Ripple ตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะตามธรรมชาติ ไม่มีใครอยากไปสนับสนุนระบบของคู่แข่งหรอกครับ ดังนั้นถ้ามีอันกลาง (ต่อให้ไม่ได้กลางขนาดนั้น แต่ก็ยังดี) คนจะยอมไปใช้มากขึ้น

มันไม่ดีอย่างไร?

หลังจากอ่านจากสรุป JP Morgan Coin คืออะไร เพื่อนๆบางคนอาจจะเริ่มเห็นจุดอ่อนของมันแล้วใช่ไหมครับ

  • JP Morgan Coin นั้นจะอยู่บน Private Blockchain ของ JP Morgan เอง
  • ระบบจะไม่ต่างอะไรกับ Centralized Database ที่ JP Morgan มีอำนาจสูงสุด เพราะเค้าเป็นเจ้าของฐานข้อมูลนี้
  • เค้าอาจจะกระจาย Node ออกไปก็ได้ แต่ในที่นี้ Node ก็ยังจะตกอยู่ในบริษัทเครือเดียวกันอยู่ดี เพื่อที่จะได้ควบคุมได้ง่าย

นั่นก็หมายความว่า

  • ธนาคารส่วนมากจะไม่ใช้ เพราะมันจะเป็นการไปทำให้คู่แข่งอย่าง JP Morgan แข็งแกร่งขึ้น (นั่นเป็นผลที่เราเห็นว่าธนาคารนั้นต่างคนต่างชอบออกโปรดักส์ของตัวเอง ไม่เชื่อมกัน ไม่ทำด้วยกัน เพราะไม่อยากเสียเปรียบคู่แข่งนั่นเอง)
  • ความน่าเชื่อถือของระบบยังยึดอยู่กับบริษัทเดียว ถ้าบริษัทนี้มีปัญหาหละ ล้มละลายหละ ระบบก็คงไม่ทำงานแล้วเราจะโอนเงินกันยังไง (นี่เราพูดถึงบริษัทที่เป็นหนึ่งในชนวนให้เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008 และสุดท้ายรอดเพราะรัฐต้องเข้ามาอุ้ม)
  • มันไม่ได้มา Disrupt อะไรเลยนอกจากธนาคารพยายามจะเข้ามามีส่วนร่วมและใช้คำว่า Blockchain หากินกับธนาคารด้วยกัน (รีบทำก่อนที่สถาบันการเงินหรือคนทั่วไปจะใช้ Cryptocurrency โอนเงินหากันเองโดยตรงแบบไม่ต้องพึ่งธนาคาร)

ทำไม Bitcoin และ Public Blockchain ถึงดีกว่า

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราใช้ Bitcoin โอนเงินหากัน ระบบ Bitcoin จะแข็งแกร่งขึ้น ทุกคนได้ประโยชน์ ไม่มีบริษัทใดบริษัทหนึ่งได้ประโยชน์มากกว่ากัน เพราะ Bitcoin เป็นระบบกลางที่ทุกคนมาใช้ได้ ไม่ต่างจาก Internet แต่ถ้าเราให้ใครมาเป็นเจ้าของระบบนี้ และถ้าทุกคนหันมาใช้ระบบนี้จริงๆ มันก็คือการ Monolopy ทางด้านธุรกิจที่บริษัทนี้จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล และมีอำนาจเหนือผู้ใช้ เพราะเราต้องพึ่งระบบเค้า เราไม่มีทางเลือก (ไม่ต่างจากที่ธนาคารเป็นอยู่แล้ว) ดังนั้นเราสรุปได้เลยครับว่า อย่าว่าแต่มาแข่งกับระบบ Bitcoin หรือ Public Blockchain อื่นๆเลย แค่ Ripple ผมก็มองว่าสู้ไม่ได้แล้วครับ เนื่องจากความที่ระบบนั้นไร้ความเป็นกลาง ทั้งที่จุดประสงค์ของ Blockchain คือการสร้างระบบที่เป็นกลาง ที่ทุกฝ่ายสามารถเชื่อถือข้อมูลได้โดยไม่มีใครมีสิทธิเหนือคนอื่นนั่นเอง

ปิดท้าย

ส่วนตัวแล้ว คอยน์แมนมองไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงของ Settlement Network มันจะมีอยู่ 2 ลำดับขั้นด้วยกัน คือ

  1. ยุคที่สถาบันการเงินและธนาคารพยายามเอา Blockchain มาใช้เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการเงินเก่า ซึ่งก็คือการนำระบบที่เป็นกลางระดับนึงอย่าง Ripple มาใช้
  2. ยุคที่ผู้บริโภคและสถาบันการเงินใช้ Cryptocurrency และ Public Blockchain สำหรับธุรกรรมทางการเงินจริงๆและตัดตัวกลางอย่างธนาคารออกจากภาพไปเลย

จากที่เห็น ทั้ง 2 ยุคนี้ไม่มีที่ว่างสำหรับระบบย้อนยุคของ JP Morgan ที่อยากให้สถาบันการเงินและธนาคารหันมาพึ่งระบบที่มันเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว (เรียกได้ว่าไปทิศทางตรงข้ามกับเทรนด์ของโลกเลยทีเดียว)   ติดตามบทความใหม่ๆได้ทางเพจคอยน์แมนครับ

 

https://www.facebook.com/coinmanth/

หรือที่ Telegram Channel และ LINE@ ครับ