วิเคราะห์เหรียญ

Cosmos (ATOM) คืออะไร ทำไมมันถึงเรียกว่า Internet of Blockchains !?

เรามาดูเหรียญที่เก็บตัวเป็นเวลา 2 ปีเต็ม แล้วจู่ๆเปิดตัวมาก็มีมูลค่าถึง $800m และกำไรถึง 40 เท่าจากราคา ICO กันนะครับ ว่ามันคืออะไรกันแน่ ทำไมมันถึงเปิดตัวได้โหดขนาดนี้

Cosmos คืออะไร?

Cosmos หรือ Cosmos Network เรียกได้ว่าเป็นจักรวาลของบล็อคเชน หรือที่ทางโปรเจคเรียกว่า Internet of Blockchain ที่ประกอบไปด้วยบล็อคเชนหลากหลายรูปแบบในระบบ เรามาดูคอนเซปภาพใหญ่กันดีกว่าว่ามันอธิบายเปรียบเทียบได้อย่างไรบ้าง:

  • Zone เป็นเสมือนดาวดวงหนึ่ง ที่เราสร้างขึ้นมาโดยใช้ Tendermint ซึ่งแต่ละดาวนั้นสามารถสร้างให้มีระบบนิเวศและองค์ประกอบเฉพาะตัวได้ไว้สำหรับจุดประสงค์ที่เราต้องการ (ความต้องการของ dApp แต่ละอันนั้นต่างกัน เราก็ควรจะสร้างกฎและสภาพแวดล้อมของดาวให้เหมาะกับ dApp นั้นๆ)
  • Hub เปรียบเสมือนระบบสุริยะ ที่เชื่อมดาวหลายๆดวงหรือ Zone หลายๆอันเข้าด้วยกัน Zone ที่เชื่อมต่อกับ Hub นั้นจะสามารถสื่อสารและทำงานด้วยกันได้ง่าย (แม้ว่าแต่ละ Zone อาจจะต่างกันสิ้นเชิง แต่การอยู่ใน Hub เดียวกันจะมีส่วนของกฎที่เสมือนกันอยู่)
  • Hub หลายๆอันต่อกันก็จะกลายเป็นกาแลกซี่ (เริ่มไปไกลแล้ว) ที่มีหลายๆระบบสุริยะอยู่ ดาวแต่ละดวงอาจจะไม่สามารถคุยกับดาวต่างระบบสุริยะได้โดยตรง แต่มันสามารถคุยผ่าน Hub หรือพูดง่ายๆว่า Hub ที่อยู่ในกาแลกซี่เดียวกันสามารถคุยกันได้ (มันก็จะมีเคสที่ว่าเราสามารถสร้าง Hub ที่ไม่คุยกับใครเลยก็ได้)
  • Cosmos Network ก็คือจักรวาลที่มาครอบทั้งหมดนี้นี่เอง

ดังนั้น Keyword หลักๆที่เราจะต้องเข้าใจในวันนี้คือ Cosmos Network, Hub, Zone, Tendermint, ATOM เดี๋ยวคอยน์แมนจะมาอธิบายให้ฟังให้ละเอียดในแต่ละอย่างนะครับ

รู้จักกับ Tendermint, Cosmos SDK และ Zone

Tendermint คือ Consensus Engine ของ Blockchain ที่ทีมงานของ Cosmos ได้สร้างขึ้นมาก่อนจะเริ่มโปรเจค Cosmos ด้วยซ้ำ โดย Tendermint เองใช้ Consensus ที่เรียกว่า Byzantine Fault Tolerance (BFT)

จุดประสงค์ของ Consensus ก็ไม่ต่างจาก Blockchain อื่นครับ เรารู้กันแล้วว่า Blockchain คือการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ทุกคนช่วยกันเก็บก๊อปปี้ของข้อมูล ซึ่งข้อมูลนี้เองจำเป็นต้องมี Consensus หรือฉันทมติว่าแต่แถวนั้นมีข้อมูลอะไรบ้าง ทุกคนต้องเห็นตรงกัน

Tendermint เป็น Open Source Consensus Engine ที่ใครก็สามารถนำมาสร้าง Blockchain ของตัวเองได้โดยใช้ Tendermint เป็นแก่น (อย่างเช่น Binance Chain นั่นเอง ที่เอา Tendermint ไปใช้ดัดแปลง ในความเข้าใจของคอยน์แมน มันน่าจะ Backward compatible กับ Cosmos) มีลิสโปรเจคที่ใช้ Tendermint หรือ Cosmos มาฝากด้วย

Cosmos นั้นมี SDK ที่เราสามารถนำไปสร้าง Blockchain ได้ง่ายขึ้น โดยรวบรวมเบสิคฟังชั่นของ Blockchain เอาไว้ หลังจากนั้นเราก็เอาไปรันบน Tendermint อีกที ตามคอนเซปของ Cosmos พอเราสร้าง Blockchain นี้ขึ้นมา มันจะเรียกสิ่งนี้ว่า Zone ซึ่งใน Zone นี้ มันอาจจะเป็น Blockchain สำหรับสร้าง dApp เฉพาะทางตัวเดียวก็ได้ หรือจะเป็น Blockchain ไว้สำหรับให้คนมาสร้าง dApp หลายๆตัวเหมือนกับ Ethereum ก็เป็นได้

ความง่ายของ Cosmos ก็คือคนที่อยากสร้าง dApp หรือมี Blockchain ที่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ก็แค่เอา Cosmos SDK และ Tendermint มาเป็นฐาน แล้วที่เหลือก็แค่ออกแบบ Application logic เท่านั้น หรือถ้าอยากได้ Private / Public Chain ก็สามารถสร้างได้เช่นเดียวกัน แค่นีเราก็มี Blockchain ตัวเองสำหรับ dApp ที่เราต้องการให้ใช้แล้ว

Cosmos Hub และ Hub ต่างๆ

พูดมาตั้งนาน ยังไม่ได้อธิบายกันเลยว่า ไอ้ Cosmos Mainnet ที่พึ่งเปิดตัวออกไปคืออะไรกันแน่ ซึ่งมันก็คือสิ่งที่เรียกว่า Cosmos Hub นั่นเอง

Cosmos Hub คือ Hub แรกในระบบ Cosmos Network ที่ใช้ Consensus แบบ Proof of Stake โดยมี ATOM เป็นเหรียญ Token ของ Hub นี้

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า Hub นั้นเป็นเสมือนระบบสุริยะ เราไม่ได้มีอันเดียว เราสร้างหลายอันก็ได้ แต่การที่ออกแบบ Hub อาจจะไม่ง่าย ดังนั้นทาง Cosmos เองก็เลยสร้าง Hub แรกซึ่งก็คือ Cosmos Hub ขึ้นมาให้ดู ใครที่อยากมาสร้าง Blockchain หรือ dApp ก็ไม่ต้องปวดหัวมาก แค่สร้าง Zone ต่อกับ Cosmos Hub มันก็สามารถคุยกับ Zone ที่อื่นเชื่อมกับ Hub นี้ได้ แถมยังเอาเหรียญ ATOM มาใช้ประโยชน์ช่วย secure ระบบได้อีกด้วย ง่ายๆแบบนี้อาจจะทำให้คนไม่ไปสร้าง Hub แยกเอง

ปัญหาที่ Cosmos เข้ามาแก้ในโลก Blockchain

มาถึงตรงนี้ น่าจะพอเห็นภาพของ Cosmos คร่าวๆ และพอเดาได้แล้วใช่ไหมหละครับ ว่ามันทำแบบนี้ไปเพื่อแก้ปัญหาอะไร ไม่ว่าปัญหาของ Blockchain ในเรื่อง Scalability, Security, Interoperability ทั้งหมดทั้งมวล Cosmos แก้ได้เกือบหมด ถ้าเราออกแบบและ implement ได้อย่างถูกวิธี มาดูตัวอย่างกันดีกว่า

ปัญหาด้าน Scalability

Ethereum มีปัญหาเรื่องความเร็ว? ก็เอามาไว้บน Tendermint ซิ แค่ 1 zone ก็ทำได้ประมาณ ~200 TPS แล้ว เร็วกว่า Ethereum ตั้ง 20 เท่า ซึ่งทาง Cosmos สร้างตัวอย่างที่เรียกว่า Ethermint ไว้ให้แล้ว

Ethermint https://ethermint.zone เป็นการโคลนระบบและความสามารถทั้งหมดของ Ethereum และสร้างไว้บน Tendermint ให้ดู (แต่เปลี่ยน PoW มาเป็น PoS)

และถ้ายังเร็วไม่พอ เราก็เอา Ethermint ที่เป็น Zone หลายๆอันมาต่อเข้าด้วยกันด้วย Ethermint Hub ที่เขียนขึ้นมาใหม่ซิ อยากได้ 2000 TPS ก็เอา Ethermint 10 Zone มาต่อเข้า Hub ไว้รัน dApp ซะเลย

Interoperability นอก Cosmos กับ BTC และ ETH

ปัญหาการที่ Blockchain แต่ละอันคุยกันไม่ได้นั้นเป็นเรื่องที่หลายๆคนพยายามจะแก้ ในจักรวาลของ Cosmos Network นั้น อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เราสามารถนำ Blockchain มาเชื่อมกันได้โดยการสร้าง Zone ของ Blockchain แล้วเชื่อมต่อกับ Cosmos Hub ที่พึ่งออก Mainnet ไปเร็วๆนี้ แต่ละ Blockchain ก็คุยกันได้แล้ว

แต่ทีนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า แบบนี้ก็ต้องสร้าง Blockchain บน Tendermint บน Zone ของ Cosmos อย่างเดียวละสิ? ไม่จำเป็นครับ !! เราสามารถเชื่อมต่อกับ dApp ที่อยู่บน Blockchain อื่นๆนอกเหนือจากในระบบ Cosmos Network เช่น Ethereum ได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า Peg-Zone

Peg-Zone เป็นตัวที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่าง External Blockchain กับ Hub ของ Cosmos ทำให้ Cosmos Network รองรับการคุยกับ Blockchain อย่าง Bitcoin และ Ethereum ได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม มันยังไม่ถึงขั้นที่ใครก็สามารถออกแบบและสร้างระบบให้เชื่อมโยงกันได้ง่ายๆ ในตอนนี้เรายังต้องพึ่ง Developer ที่เข้าใจในระบบเป็นคนทำอยู่ดี

เหรียญ ATOM มีไว้ทำอะไร?

Cosmos Hub นั้นรันด้วยระบบ Proof of Stake โดยเราสามารถนำ ATOM ไป Stake บนระบบได้ และเราจะได้รับ ATOM เป็นผลตอบแทบกลับมาสำหรับการเป็น Validator ของระบบ (คล้ายกับ Miner)

ทั้งนี้ Validator ของระบบมีจำนวนจำกัด เราเลยต้องไปฝาก Stake ไว้กับ Node ต่างๆที่มีอยู่แล้ว หรือพูดง่ายๆว่าเราเอาเหรียญเราไปค้ำและโหวตให้กับคนที่เราคิดว่าดีและแบ่งเงินรางวัลให้เราเยอะถ้าเราเลือกเค้า

Utility ของเหรียญ ATOM คือการเอาไปจ่ายเป็นค่า Transaction Fee ใน Cosmos Hub (แปลว่าถ้าคนไปสร้างและใช้ Hub อื่น เหรียญ ATOM ก็ไม่ได้ใช้งานนะครับ นี่คือความเสี่ยงอย่างหนึ่ง)

ในด้าน Economic เหรียญ ATOM จะไม่มีจำนวนจำกัดแต่จะมีตัวเลขเงินเฟ้อที่ประมาณได้ (เหมือนกับ Ethereum) ซึ่งมาจากการให้รางวัล Validator

ปิดท้าย

มาถึงตรงนี้แล้ว น่าจะเห็นถึงความสุดยอดของ Cosmos กันบ้างแล้วใช่ไหมครับ สมกับคำว่า Internet of Blockchains ที่เราสามารถทั้งสร้าง Blockchain บนระบบนั้น คุยกับ Blockchain ต่างๆในระบบ หรือแม้แต่เชื่อมกับ Blockchain นอกระบบ

จากบทความ คอยน์แมนคาดว่าโปรเจคนี้เป็นโปรเจคยักษ์ที่จะลอยตัวอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าการที่มันเปิดตัวมาในราคา 40 เท่าจากราคา ICO (แต่ก็ผ่านไป 2 ปีนะกว่าจะออก) และมีมูลค่าตลาดมหาศาลถึง $800m ณ เวลาที่เขียนบทความ เราก็ต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงกันแล้วละครับ

ในมุมมองส่วนตัว คอยน์แมนคิดว่าโปรเจคนี้ควรจะได้เป็นหนึ่งในโปรเจค Top 10 และคงระดับไว้ได้ในระยะยาวครับ ตอนนี้เราก็แค่หาจังหวะลงทุนที่ดีครับ  

 

ติดตามบทความใหม่ๆได้ทางเพจคอยน์แมนครับ

https://www.facebook.com/coinmanth/

หรือที่ Telegram Channel และ LINE@ ครับ