วิเคราะห์เหรียญ

The Rise of Ethereum: 3 สิ่งที่จะมาเปลี่ยนมุมมองนักลงทุนในปี 2020

Rise of Ethereum

จากที่คอยน์แมนได้เคยเขียนบทความ “Ethereum กำลังจะตาย?” ในปี 2018 โดยกล่าวถึงจุดอ่อนต่างๆของเหรียญ ETH ที่ทำให้มันไม่น่าลงทุนซักเท่าไหร่ โดยสรุปได้ดังนี้

  • ETH ไม่มีแรงจูงใจให้คนถือ แถมยังมีนักขุดที่เป็นฝ่ายเทขายเรื่อยๆอีกด้วย
  • ยุค ICO ของ ETH จบลงแล้ว ไม่มีใครถือ ETH ไว้รอลง ICO 
  • โปรเจคก็ไม่เสี่ยงถือ ETH หลังจากการระดมทุนเพื่อเก็งกำไรอีกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น โปรเจคเก่าๆเทขาย ETH ที่ได้มาอีกด้วย
  • เหรียญส่วนมากที่ออกบน ETH ก็ไม่มีการใช้งานจริง โปรเจคส่วนมากก็ล้มเหลว

แต่ถามว่าภาพที่ดูสิ้นหวังนี้ จะสามารถเปลี่ยนได้ไหม? คำตอบก็คือได้แน่นอนครับ เพราะในโลกของระบบ Decentralized อย่าง Bitcoin หรือ Ethereum ภาพและมูลค่าของเหรียญ ล้วนแต่สะท้อนจากความคิดของนักลงทุนและผู้ใช้ระบบนั้นๆในขณะนั้น

ในมุมมองส่วนตัวของคอยน์แมนแล้ว ปี 2020 จะเป็นปีที่น่าสนใจของ Ethereum โดยจะมี 3 สิ่งด้วยกันที่คอยน์แมนคิดว่าจะมาเปลี่ยนมุมมองของนักลงทุนต่อ Ethereum ได้

1. Ethereum = Decentralized Finance (DeFi)

Ethereum ได้เปลี่ยนจุดยืนมาหลายครั้งแล้วในอดีต เช่น 

  • World Computer (คอมพิวเตอร์กลางของโลกที่ใครเข้ามาใช้ได้)
  • ICO Platform (ที่ออกเหรียญ ICO และที่ระดมทุน)
  • Gaming & Collectible Platform (เกมส์และของสะสม นึกถึง CryptoKitties)
  • Asset Issuance & Transfer Platform (ที่ใช้ออกเหรียญ และใช้สำหรับโอนมูลค่าของสินทรัพย์ รวมถึงสินทรัพย์จากโลกจริงเช่น USDT, USDC)

โดยที่ผ่านมานั้น นอกจากยุคทองอย่าง ICO platform อันอื่นก็ยังไม่โดน กระแสไม่แรง หรือทำได้ไม่ดี (เช่น ติดปัญหาด้านการ scaling เป็นต้น) แต่แน่นอนว่ามันไม่หยุดแค่นี้ เรามาดูกันว่า จุดยืนหรือสโลแกนต่อไปของ Ethereum จะเป็นอะไร

รู้จักกับ DeFi 

DeFi นั้นคือการสร้างระบบการเงินไร้ตัวกลางหรือ Trustless Protocol ขึ้นมาเพื่อแทนที่ระบบการเงินแบบเก่าเช่นธนาคารเป็นต้น โดย DeFi จะประกอบไปด้วย

  • Predefined rule หรือกฎของระบบที่แน่ชัดในโค้ด (Smart Contract) โดยเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้หากยอมรับในกฎที่ระบบสร้างไว้
  • Public Blockchain ที่เปิด เป็นกลาง ตรวจสอบได้และทำงานได้อย่างมีประสิทธภาพโดยไม่พึ่งพาองค์กรใดๆ ในเคสนี้คือ Ethereum 

ในปัจจุบัน เรามี DeFi มากมาย โดยตัวท็อปๆก็เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางเช่น 

  • MakerDAO แอปที่คนสามารถเอา ETH มาค้ำ 150% ของมูลค่าเพื่อสร้าง DAI (Stablecoin ที่มูลค่าเทียบเท่ากับ USD) ไปใช้ได้ โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยเมื่อเอา DAI มาคืนแลกกับ ETH ที่ค้ำไว้ 
  • Compound ระบบกู้ยืมเหรียญที่เปิดให้คนสามารถนำเหรียญ ETH, DAI, WBTC (Bitcoin บน Ethereum) หรือแม้แต่ Stablecoin อย่าง USDC มาปล่อยกู้รับดอกเบี้ยกันได้ ซึ่งเรทดอกเบี้ยนี่ดีกว่าธนาคารอีกด้วย
  • Synthetix แอปที่สามารถนำเหรียญ SNX ของมันเองไปค้ำ (750%) เพื่อสร้างสินทรัพย์จำลองที่มีมูลค่าเทียบเท่ากับโลกจริงได้ เช่น ดอลลาร์ ยูโร เยน ทอง เงิน หุ้น และอื่นๆ  Uniswap โดยส่วนมากจะเป็นระบบกู้ยืม แลกเปลี่ยน และการสร้างเหรียญ Stablecoin
  • Uniswap ระบบ Decentralized Exchange ที่เราสามารถแลกเปลี่ยนเหรียญได้อย่างไร้ตัวกลาง โดยคนที่ให้ Liquidity โดยฝากเหรียญที่ตัวเองไม่ใช้ไว้กับระบบ ก็จะได้ผลตอบแทนเป็น fee ถ้ามีคนแลกอัตโนมัติ

DeFi ถูกใช้งานจริงขนาดไหน? 

มูลค่าเหรียญรวมกันที่ถูกล็อคบน DeFi ซึ่งสื่อได้ถึงมูลค่าของ Ecosystem มันนั้นได้โตจาก $2m หรือ 6 ล้านบาท ไป $670m หรือมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ภายในเวลาเพียง 2 ปี 

นึกภาพนะครับ คนกลุ่มนี้กล้าวางเงินมูลค่ามหาศาล ในแอปการเงินที่ไม่มีบริษัท ไม่มี customer support ไม่มีกฎหมายค้ำประกัน คนกลุ่มนี้กลับเชื่อใจในโค้ดและ Ethereum เพียงเท่านั้น

ภาพข้างบนนี้โชว์ interaction ระหว่างแอป DeFi ต่างๆ และจำนวนผู้ใช้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ถึง 1 ปี DeFi นั้นมีการเติบโตอย่างมาก และคนที่ลองเล่น DeFi ซักแอปแล้วมีแนวโน้มที่จะลองอันอื่นอีก (จุดเหลือง ส้ม แดง) 

ETH จะเป็น Consumable Asset หลักของโลกการเงินในอนาคต

หาก Ethereum จะกลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับ DeFi ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจริง ตัวเหรียญ ETH ที่มีไว้จ่ายค่า Gas เพื่อให้ระบบมันทำงาน ก็จะเป็นเสมือนน้ำมันที่มีความต้องการมากที่สุดในโลกการเงินนั่นเอง  

2. ฐานที่แข็งแกร่งของระบบ DeFi จะถูกสร้างด้วยการล็อคเหรียญ ETH จำนวนมาก

การอ้างว่า Ethereum มี dApp เยอะแล้วต้องใช้ Gas เยอะ ไม่ได้ดูจะทำให้คนหันมาลงทุนซักเท่าไหร่ พูดง่ายๆว่าเรื่องราวไม่เพียงพอที่จะให้คนเห็นค่า แต่การมาของ DeFi นั้นไม่ได้หมายถึงว่า ETH จะต้องถูกใช้งานเยอะขึ้น กลับกัน ระบบส่วนมากจะเป็นการเอา ETH ไปล็อคไว้เพื่อเป็นฐานในการสร้างสินทรัพย์สำหรับ DeFi 

ยกตัวอย่างเช่น MakerDAO ที่ใช้ ETH ค้ำเพื่อสร้าง Stablecoin อย่าง DAI นั้นเรียกได้ว่าเป็นฐานสำคัญของระบบการเงินไร้ตัวกลางเลยทีเดียว เนื่องจากการใช้ USDT USDC กับ DeFi application จะเป็นการสร้างจุดอ่อนให้กับ application นั้นๆ เพราะว่า USDT USDC มี Counterparty risk ที่ต้องเสี่ยงว่ามีเงินในธนาคารจริงหรือไม่ ต่างกับ DAI ที่ค้ำด้วยสินทรัพย์ที่เป็นดิจิทัลจริงๆ ไม่มีความเสี่ยงจากโลกภายนอก และล็อคด้วย Smart Contract 

ดังนั้นยิ่ง DeFi โตขึ้น มีแอปมากขึ้น เราอาจคาดการณ์ได้ว่า DAI หรือเหรียญ Stablecoin ต่างๆที่ถูกสร้างโดยใช้ ETH ค้ำนั้นจะมีความต้องการมากขึ้นเช่นกัน หมายความว่า ETH ที่จะต้องถูกล็อคมากขึ้นเรื่อยๆเหมือนสร้างฐานให้กับสินทรัพย์ที่คนเอาไปใช้ในระบบต่อๆไป และมุ่งเป้าสู้โลกการเงินที่ไร้ตัวกลางอย่างแท้จริง

ซึ่งผลลัพท์ก็คือ ETH จำนวนมากจะถูกล็อคไว้เป็นฐานของ DeFi และถูกเอาออกจาก Circulating Supply ทำให้เหลือเหรียญในตลาดน้อยลง

Permissionless World / Permissionless Finance = โลกที่ไม่ต้องขออนุญาติ โลกการเงินที่ไร้ตัวกลาง (Ref)

เหรียญถูกล็อคเยอะขนาดไหน?

จากข้อมูลล่าสุดบน DeFi Pulse ประมาณ 2.7 ล้าน ETH ถูกล็อคไว้ในระบบ DeFi ซึ่งนั่นเทียบเท่ากับประมาณ 2.5% ของ Supply ทั้งหมดของ ETH ในตอนนี้ 

ซึ่งถ้าให้เทียบตัวเลขกับช่วงที่ ETH มูลค่ามากถึง $1,400 พวกโปรเจค ICO ได้ถือ ETH จำนวนประมาณ 5 ล้าน ETH ไว้ หรือตีเป็นประมาณ 5% ของ Supply (จริงๆคือ 4.5 ล้าน ETH แต่ปัดขึ้นไปสำหรับ ICO ที่ไม่ได้อยู่ในลิสนี้)

นั่นหมายความว่า ETH ในยุค ICO ตอนนั้นถูกล็อคมากกว่าเพียงแค่ 2 เท่า เมื่อเทียบกับยุค DeFi แต่กลับกัน ราคา ETH ตอนนั้นสูงถึง $1,400 ในขณะที่ตอนนี้ราคาเพียงแค่ $140 หรือห่างกัน 10 เท่าเลยทีเดียว 

*ตามหลักเศษฐศาสตร์ ถ้า Demand หรือความต้องการเท่าเดิม แต่ Supply หรือจำนวนเหรียญในตลาดน้อยลงจากการล็อคเหรียญ ราคาก็จะขึ้นครับ

ETH จะกลายมาเป็น Store of Value หรือสินทรัพย์ที่เก็บมูลค่าได้

ในภาพนี้ เราอาจมอง ETH เป็นเสมือน Store of Value (SoV) หรือสินทรัพยที่สามารถเก็บมูลค่าได้ เพราะมันจะถูกไปใช้เป็นฐานมูลค่าของเหรียญอื่นๆและระบบอีกมากมาย

ไอเดียนี้คล้ายกับการที่ทองคำถูกล็อคไว้ใน Reserve ของธนาคารกลางเพื่อเป็นฐานมูลค่าสร้างธนบัตรหรือสร้างความน่าเชื่อถือต่อชาติอื่น และหลังจากนั้นระบบการเงินก็จะนำธนบัตรที่ว่านี้ไปใช้ต่อ

3. ETH 2.0 และ Staking กับการแก้ปัญหาด้าน Demand 

ในโลก Crypto หากเราพูดถึงสินทรัพย์ที่รักษามูลค่าหรือมีมูลค่ามากขึ้นในระยะยาว คนส่วนมากจะไม่มอง ETH เนื่องจากมันมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆได้ไม่จำกัด (ไม่มี Cap total supply เหมือน Bitcoin ที่ 21 ล้าน BTC) แถมยังไม่มี demand หรือกลไกที่เป็นแรงจูงใจให้คนถือเหรียญไว้โดยไม่ขาย 

พูดง่ายๆก็คือ ETH ที่ได้มาจากการขุดจะถูกเทเสมอ ซึ่งสิ่งนี้มีผลทางด้านเศษฐศาตร์และจิตวิทยาด้านราคาอย่างมาก โดยเฉพาะ ETH เป็นเหรียญไม่มี Supply จำกัดอย่าง Bitcoin 

แต่อนาคตมันจะไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ด้วยการมาของ ETH 2.0 และการย้ายไปสู้ Proof of Stake (PoS) ที่เปลี่ยนจาก

  • เครื่องขุดที่นักขุดต้องเสียค่าไฟมหาศาลไปเพื่อได้ ETH เป็นรางวัล และต้องขาย ETH เพื่อจ่ายทุนการขุด
  • ไปสู่การให้ผู้ตรวจสอบใช้ ETH มาประกันเพื่อยืนยันการตรวจสอบระบบอย่างซื่อตรง โดย ETH ที่ได้เป็นรางวัลนั้นก็สามารถเอามาประกันหรือ stake เพิ่มได้ เพราะยิ่งมี ETH stake มาเท่าไหร่ ยิ่งได้รางวัลมากเท่านั้นตามสัดส่วน

Staking = เพิ่มความต้องการ + ลดแรงเทขาย

การมาของ PoS ทำให้เกิดกลไลดึงดูดคนให้ล็อค ETH จำนวนหนึ่งเพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนจากระบบ นอกจากนี้ มันยังโน้มน้าวให้คนนำรางวัล ETH ที่ได้มานั้นไป stake เพิ่ม เพื่อให้ได้รางวัลมากขึ้นอีกต่างหาก

ผลก็คือ Circulating Supply ของ ETH มีสิทธิที่จะลดลงไปมหาศาล (เราเห็นตัวอย่างเช่น ATOM กันแล้วว่าเกิน 50% จำนวนเหรียญทั้งหมดนั้นถูกเอาไป stake และล็อคออกจากการเทรด)

**อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ หาก ETH มีการเปิด Staking จริง คอยน์แมนเชื่อว่าเวปเทรดและแอปต่างๆจะเปิดซัพพอร์ต Staking อัตโนมัติของ ETH แน่นอน เราเห็นตัวอย่างกันแล้วว่าการเปิดฟีเจอร์นี้เป็นตัวดันราคาได้อย่างเช่นเหรียญ Tezos ซึ่ง Coinbase และ Exchange อื่นๆพึ่งเปิดฟีเจอร์นี้ไปทำให้เหรียญขึ้นสูงถึง 50% ด้วยกัน

***แต่ก็ดูจังหวะดีๆนะครับ รอบนี้ PoS น่าจะเริ่มเปิดใน Q1 2020 (ก่อนมีนาคม) แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเลื่อนได้เรื่อยๆเช่นกัน

ETH จะกลายเป็น Capital Asset ที่สร้างรายได้

Capital Asset คือสินทรัพย์ที่สามารถสร้างมูลค่าหรือรายได้ต่อเนื่องได้ในระยะยาว 

หุ้นมีปันผล บ้านปล่อยเช่าก็มีรายได้ ETH ก็ไม่ต่างกันครับ การเอาไป stake ในระบบจะสร้างรายได้ให้กับผู้ถือเหรียญคล้ายกับดอกเบี้ยเช่นกัน 

สำหรับ PoW เราไม่จำเป็นต้องถือ ETH เราก็สร้างรับรายได้จากการขุดได้ แต่สำหรับ PoS เราจำเป็นต้องมี ETH ถึงจะมีสิทธิที่จะ stake เพื่อ

  • รับรางวัลจากการตรวจสอบ Block
  • รับค่า Fee จาก transaction 

ดังนั้น ETH ก็ไม่ต่างกับหุ้นของระบบ Ethereum ที่ทำให้เราได้สิทธิในการมีส่วนร่วมและรับรายได้จากระบบนั่นเอง 

* กระแส PoS รักธรรมชาติกว่า PoW กำลังมาแรงด้วย (แม้ว่าในความเป็นจริง เรื่องทำลายธรรมชาติจริงไหมก็เป็นหัวข้อที่ยังโต้แย้งกันไม่ได้ข้อสรุปนะครับ)

สรุป

ปี 2020 น่าจะเป็นปีที่น่าตื่นเต้นสำหรับ Ethereum เพราะพื้นฐานมันเปลี่ยน (หรือมุมมองของคนส่วนมากต่อมันจะเริ่มเปลี่ยน)

คอยน์แมนขอสรุปง่ายๆครับว่า 3 สิ่งที่จะมาเป็นตัวดันราคาคือ

  1. Ethereum มีจุดยืนในการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับ Decentralized Finance หรือ DeFi ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ ETH จะเป็น Consumable Asset หรือน้ำมันที่ถูกใช้งานมากที่สุดในโลกการเงิน
  2. เหรียญ ETH เป็น Store of Value และฐานสำคัญในการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลที่ปลอดภัยและไร้ตัวกลางอย่างแท้จริง ซึ่งจะถูกนำไปใช้งานหรือค้ำมูลค่าต่อๆไปเครือข่าย DeFi ผลก็คือจะมี ETH จำนวนมากถูกล็อคออกจาก Circulating Supply
  3. เหรียญ ETH เป็นเสมือน Capital Asset ที่ให้สิทธิในการสร้างรายได้ให้กับผู้ถือโดยการนำไป stake และรับ fee จากระบบ อีกทั้งจะยังช่วยล็อค ETH จำนวนมหาศาลออกจาก Circulating Supply

ความหลากหลายของคุณสมบัติสินทรัพย์ที่ ETH มีนั้น แม้อาจไม่ได้มีผลกับการตีมูลค่าโดยตรงในทันที แต่แน่นอนว่ามันเป็น Story หรือเรื่องราวที่ทรงพลัง ที่สามารถช่วยเสริมความเชื่อ ดันกระแส และผลักดันราคาได้ในที่สุดครับ

ส่วนเราควรซื้อตอนไหน ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่า Ethereum นั้นเป็นขาลงมาแล้วเกือบ 2 ปี ดังนั้นก่อนจะซื้อ แนะในให้ลองติดตาม Timeline ของโปรเจคอย่างใกล้ชิด และศึกษาด้าน Technical Analysis ประกอบไปด้วยเพื่อหาจังหวะเข้านะครับ

**อย่าลืมกันว่า การที่เราซื้อก่อนคนอื่น หรือก่อนที่เทรนด์มันจะมา มันมีความเสี่ยงที่สูงมาก ถ้ากระแสมาช้าหรือไม่มาเลย เราก็มีสิทธิเสียโอกาสและขาดทุนครับ ดังนั้นชั่งน้ำหนักและบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมก่อนลงทุนทุกครั้งนะครับ


ติดตามบทความอีกมากมายได้ที่:

https://www.facebook.com/coinmanth
หรือที่ Telegram Channel ครับ