มุมมองตลาดและเทคโนโลยี

6 เรื่องราวที่ทำให้ Bitcoin เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ทรงพลังที่สุด

ยุค Internet เป็นยุคที่ข้อมูลข่าวสารนั้นรวดเร็วและไร้พรมแดน เราอาจได้เห็นเรื่องราวมากมายติดกระแส Viral กระจายไปทั่วโลก การลงทุนก็ไม่เว้น ไม่ว่าจะเป็น

  • การทวีตของ Donald Trump ทั้งที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย ความเสี่ยงด้านสงครามการค้า สงครามโลกครั้งที่ 3 ล้วนกระทบต่อตลาดหุ้น ค่าเงิน และสินทรัพย์ต่างๆ
  • สเน่ห์ของผู้นำอย่าง Elon Musk ที่ให้ความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนจนทำให้ Tesla เป็นบริษัทรถยนต์มูลค่าอันดับสองของโลกได้สำเร็จ 
  • กระแสที่ดันราคาสินทรัพย์ไปอย่างมหาศาลเช่น Internet (Dot-com Bubble), ที่ดิน (Housing Bubble – Subprime Crisis) และ Blockchain (ICO Bubble)

แน่นอนว่าพื้นฐานมูลค่าของสินทรัพย์นั้นสำคัญ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Narrative หรือการเล่าเรื่อง นั้นสำคัญต่อมูลค่าไม่ต่างกัน โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย ทำให้ข้อมูลเหล่านี้มีผลต่อความรู้สึกและการตัดสินใจในการลงทุน ซึ่งมันมีอิทธิพลมากกว่าที่หลายๆคนคิดเลยทีเดียว (บางคนไม่ได้ลงทุนเพราะกราฟดี หรือวิเคราะห์แล้วพื้นฐานดีแต่มูลค่าต่ำกว่าที่เป็น กลับกัน คนเลือกลงทุนเพราะคนบอกต่อว่าดี แนะนำว่าดี อยู่ในกระแส หรือมีแล้วดูเข้าสมัย)

ทำไม Bitcoin จะเป็นสินทรัพย์ที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากกว่าสินทรัพย์อื่นๆ ? (เพราะดูเท่ เข้ายุคสมัย?) 

ทำไมการคุยเกี่ยวกับ Bitcoin ถึงกระทบต่อความรู้สึกคนได้ ? (ทั้งรักมาก เกลียดมาก ยังกับศาสนาและการเมือง)

นั่นเป็นเพราะพลังของเรื่องราวนั่นเอง ที่เป็นแรงผลักดันด้านความเชื่อและสะท้อนออกมาที่มูลค่าของ Bitcoin 

เรื่องราวเหล่านี้มีอะไรบ้าง ไปดูกันครับ

1. Satoshi Nakamoto ผู้ก่อตั้งปริศนา

มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนรู้จัก Bitcoin แล้วจะไม่รู้จักชื่อ Satoshi Nakamoto เรื่องราวของผู้ให้กำเนิด Bitcoin ที่ใช้ชื่อนิรนาม บุคคลที่ตัวตนของเค้ายังเป็นปริศนาถึงทุกวันนี้

บางคนอาจจะคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้สำคัญมากนัก แต่เราเคยสงสัยไหมว่า ทำไมทุกคนที่สนใจ Bitcoin อย่างน้อยๆจะได้ยินเรื่องราวนี้ นั่นเป็นเพราะว่า มนุษย์เรานั้นชอบ Story เรื่องราว โดยเฉพาะเกล็ดความรู้หรือเรื่องที่ไม่ธรรมดา ที่สามารถบอกต่อให้คนอื่นฟังแล้วทำให้คนอื่นสนใจ ทำให้เรื่องราวนี้มันติดต่อและ Go Viral ได้ง่ายนั่นเอง ซึ่งกลับกัน มีอีกหลายเหรียญที่มีผู้ก่อตั้งชัดเจน แต่ดันไม่มีใครแม้แต่จะสนใจ

เรียกได้ว่า ความเป็นปริศนาของ Satoshi Nakamoto นั้นทำให้ Bitcoin เป็นเรื่องเล่าปากต่อปากที่ทำให้คนจดจำกันได้ง่าย แถมมีความขลัง โดยเฉพาะกับระบบ Decentralized กระจายศูนย์ที่จะดูดีขึ้นอีกหากไม่มีผู้ก่อตั้งหรือ CEO มีอิทธิพลกับระบบ

2. อุดมการณ์ของ Cypherpunk และ Crypto-Anarchist สู่การกระจายอำนาจ สิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมของประชาชน

“Chancellor on brink of second bailout for banks” เป็นพาดหัวข่าวของวันที่ 3 มกราคม 2009 ที่ Satoshi Nakamoto ได้ฝังไว้ใน Block แรกของ Bitcoin ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการโชว์อุดมการณ์และเหตุผลการสร้าง Bitcoin เพื่อที่จะมาเป็นเครื่องมือต่อสู้กับผู้มีอำนาจที่ทำลายความมั่งคั่งของประชาชน 

Cypherpunk หรือนักผลักดันสังคมที่เชื่อว่าความเป็นส่วนตัวนั้นจะนำพามาซึ่งสังคมที่เปิดในอุดมคติ โดยใช้เทคโนโลยีเช่นการเข้ารหัสมาช่วย และ Crypto-Arnachist หรือนักผลักดันสังคมในด้านอนาธิปไตยโดยใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสเข้ามาทำให้พวกเค้ามีอิสระภาพทางการเงินและความคิดทางการเมือง ซึ่งทั้งสองกลุ่มเป็นผู้ให้การสนับสนุน Bitcoin ในยุคแรก 

การสร้างโลกที่ไร้รัฐบาล ไร้ผู้ควบคุม โลกที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ มีความส่วนตัวสูง ซึ่งเป็นโลกในอุดมคติของคนกลุ่มนี้ เราอาจจะมองว่ามัน Extreme หรือสุดโต่งเกินไป และแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่เราก็ไม่สามารถดูถูกพลังของอุดมการณ์เหล่านี้ได้ เพราะมนุษย์เรานั้นขับเคลื่อนด้วยความเชื่อ การที่กลุ่มคนเหล่านี้ที่มีแนวคิดเดียวกัน หากันเจอบนโลกออนไลน์และมีสิ่งที่ทำให้พวกเค้าเหล่านั้นเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่าง Bitcoin มันมีพลังมหาศาลไม่ต่างกับศาสนาเลยทีเดียว

ซึ่งในยุคแรกนั้น Bitcoin ได้ดึงดูดคนมากมายจากทั่วมุมโลกที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันนี้ และได้สร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง หรือพูดง่ายๆก็คือฐานแฟนคลับในยุคแรกนั่นเอง

ต่อมาไม่นาน Bitcoin ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ไอเดียที่ดูสุดโต่งนี้ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามกลุ่มผู้ฟัง หากเรามองรอบๆตัวเรา เราจะเห็นได้ว่า นี่คือยุคที่คนเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียม ยุคแห่งประชาธิปไตยนั่นเอง ดังนั้นแม้ว่า Bitcoin ไม่ได้มีผลในทันทีกับเรื่องการย้ายอำนาจมาสู่มือประชาชน แต่แนวคิดมันใช่ คนก็จะเริ่มให้ความสำคัญและบอกต่อๆกัน 

ดังนั้นเทคโนโลยีหรือระบบอะไรก็ตาม ที่มันสนับสนุนเทรนด์แนวคิดของมนุษย์ ล้วนจะได้รับผลพลอยได้ 

นึกภาพว่าถ้าเราโปรโมทไอเดีย Bitcoin เมื่อ 500 ปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่คงหาว่าเราบ้าและนอกคอก กลับกัน การโปรโมทว่า Bitcoin จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น สร้างความเท่าเทียมมากขึ้น คนกลับมองว่าเรามีความคิดและให้การสนับสนุน

3. The Rise of the Machine ยุคที่เราเชื่อใจคอมพิวเตอร์มากกว่ามนุษย์

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีนั้นเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆอย่างในชีวิตมนุษย์อย่างมาก หนึ่งในนั้นคือสิ่งที่หลายคนกลัว นั่นก็คือแนวคิดการที่หุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์ จะมาทำงานแทนมนุษย์เรานี่เอง 

เทรนด์ “The rise of the machine” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราอาจได้เห็นกันตามหนัง Sci-fi มากมายแล้ว ซึ่งมันมีทั้งอนาคตที่สดใจ หรือมืดมนที่มนุษย์โดนกวาดล้างอย่างเรื่อง Terminator อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะไม่รู้ถึงอนาคตอันไกลนั้น แต่เราแน่ใจได้เลยว่าในระยะสั้นนั้น มันได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า หลายอุตสาหกรรมนั้นเริ่มใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น โรงงาน การขนส่ง การบิน การตรวจสอบข้อมูล และอื่นๆอีกมากมาย

แล้วการเงินหละ? Bitcoin นั้นถือว่ากำเนิดมาในจังหวะที่เหมาะ เพราะในโลกการเงินนั้น เรายังจำเป็นต้องพึ่งตัวกลางอยู่ เราไม่เคยมีวิธีที่จะเคลื่อนย้ายมูลค่าในโลกออนไลน์ได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง จนกระทั่ง Bitcoin เกิดขึ้น

เทรนด์ที่ว่าหุ่นยนต์จะมาแทนที่มนุษย์สำหรับ Bitcoin แล้ว ก็คือการย้ายความเชื่อใจ แทนที่จะให้ธนาคารต่างๆตรวจสอบบัญชีของเรา ทำธุรกรรมให้ ในเมื่อมนุษย์มีข้อผิดพลาด มีป่วย มีการทุจริต เราย้ายความเชื่อใจนี้ ไปสู่ระบบที่เราไม่ต้องใช้มนุษย์ ระบบที่หุ่นยนต์ทำงานให้อย่างซื่อสัตย์ ไม่ดีกว่าหรือ 

Bitcoin ช่างเป็นอะไรที่เข้ากับยุคสมัยได้ดี ในเมื่อผู้คนเชื่อกันว่าหุ่นยนต์จะมาแทนมนุษย์ เวลาเราพูดถึง Bitcoin มันก็จะดูร่วมสมัย เป็นอะไรที่ดูเข้ากับเทรนด์และเมคเซนต์นั่นเอง ซึ่งเรื่องราวนี้แหละ เป็นหนึ่งในพลังที่เสริมสร้างความแข็งแกรงให้กับภาพของ Bitcoin มากยิ่งขึ้น

4. Sound Money เงินที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน

“ตลาดจะเป็นผู้กำหนดว่า Bitcoin คืออะไร” มาวันนี้ แนวคิดสุดโต่งในเชิงการเมืองการปกครองนี้อาจยังไม่ได้รับการยอมรับโดยวงกว้าง กลับกัน แนวคิดด้านเศษฐศาสตร์เกี่ยวกับ Bitcoin กลับเป็นที่นิยมมากขึ้น แน่นอนว่า ผู้คนเห็นความเน่าเฟะและความล้มเหลวของเงินรัฐ (Fiat Currency) แต่กลับหาทางออกไม่ได้ เนื่องจากการกลับไปใช้ทองคำมันมีความเป็นไปได้ต่ำ และเสี่ยงต่อการถูกรัฐแทรกแทรงอยู่ดี 

การเกิดขึ้นมาของ Bitcoin จึงเป็นทางออกสำหรับคนที่มีแนวคิดนี้ ที่เชื่อว่า Bitcoin นั้นคือ Digital Gold ซึ่งคือเงินที่เปิดให้ประชาชนใช้ได้อย่างเท่าเทียม ไร้พรมแดน ไร้การเซนเซอร์ มีจำนวนจำกัดชัดเจน และไม่มีใครเป็นเจ้าของระบบ ซึ่งสิ่งนี้เองเรียกว่า Sound Money 

สำหรับนักลงทุนที่เชื่อในแนวคิดนี้ หากจะมีทองคำในพอร์ต ก็ไม่เสียหายที่จะมี Bitcoin เช่นกัน ยิ่งในช่วงหลังที่เกิดเหตุการณ์เช่น ความเสี่ยงทางการค้า สงคราม และโรคระบาด สอดคล้องกับราคา Bitcoin มันก็จะยิ่งส่งเสริมความเชื่อตรงนี้เข้าไปใหญ่ แต่ก็อย่าลืมว่า สิ่งที่ Bitcoin ยังสู้ทองคำไม่ได้ นั่นก็คือเรื่องความเชื่อมั่นตามกาลเวลาและความมั่นคงของมูลค่าในตลาด เนื่องจาก Bitcoin มีเวลาพิสูจน์ตัวเองได้เพียง 10 ปี เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ของทองคำที่มีมากกว่าพันๆปี

ใครสนใจประวัติศาสตร์ของเงินและการค้นหา Sound Money ไปอ่านต่อกันได้ที่บทความนี้ของคอยน์แมนครับ

5. การเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์

มนุษย์เรานั้นให้ความสำคัญกับความคิดของตนเอง หากเราเจอกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์หรือความเชื่อเหมือนกัน เรามักจะไม่พลาดที่จะเข้าไป เพื่อให้รู้สึกว่าเรามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกลุ่มบน Facebook การฟอลโลว์ การไลค์ การแชร์ การร่วมงาน Event และอีกมากมาย 

การถือ Bitcoin ก็ไม่ต่างกัน มันทำให้เราพูดได้เต็มปากว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในแก๊งค์ และแก๊งค์ที่ว่านี้ไม่มีพรมแดนอีกด้วย เพราะการใช้ Bitcoin ไม่เหมือนเงินรัฐที่มีพรมแดนของชาติเข้ามาเกี่ยว Bitcoin ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของประชากรโลกอย่างแท้จริง 

แน่นอนว่า Bitcoin จะนำพาการเปลี่ยนแปลงมาสู่โลก การที่เราถือมัน เราสื่อความเชื่อของเราต่อโลกได้ ไม่ว่าเราจะต้องการสื่อว่าเราเป็น นักลงทุนยุคใหม่ ผู้นำทางด้านเทคโนโลยี นักปฏิวัติ กลุ่มต่อต้านรัฐบาล กลุ่มต่อต้านนายทุน และอื่นๆอีกมากมาย การมี Skin in the game นั้นทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ Bitcoin จะสร้างขึ้น ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

6. เรื่องราวของคนรวย (และเกือบรวยถ้ายังมี Bitcoin)

ในปี 2010 ผู้ชายที่ชื่อว่า Laszlo Hanyecz ได้โพสลงเว็บบอร์ด โดยเสนอซื้อพิซซ่าสองถาดด้วย Bitcoin  จำนวนถึง 10,000 BTC ซึ่งในขณะนั้นหนึ่งหมื่น Bitcoin นั้นมีมูลค่าเพียง $30 เท่านั้น 

ถ้าเราคำนวณมูลค่าวันนี้ Laszlo ได้จ่ายค่าพิซซ่าไปถาดละ $50M หรือ 1,500 ล้านบาท น่าเสียดายใช่ไหมครับ

ในปี 2014 นักร้องชื่อดัง Lily Allen ได้ทวีตว่าเธอเคยถูกเสนอให้ไป Live stream ดนตรีบนเกม Second Life ในปี 2009 – 2010 โดยแลกกับ Bitcoin มากกว่า 100,000 Bitcoin ซึ่งแน่นอนว่าเธอไม่ได้ทำและเสียดายกับข้อเสนอนั้นอีก 5 ปีถัดมา 

มาถึงคนที่ไม่ได้พลาดกันบ้าง พบกับ Erick Fineman ที่ในปี 2011 ได้ลงทุนใน Bitcoin จากการยืมเงินคุณยายมูลค่า $1,000 ด้วยวัยเพียง 11 ปี โดยที่ในขณะนั้น Bitcoin มีมูลค่าเพียง $12 หลังจากนั้น Erick ได้ทำกำไรกับ Bitcoin ไปอย่างมหาศาลตอนมันราคาขึ้นไปถึง $1,200 ในปี 2013 และยังไม่จบแค่นั้น ในปี 2015 ตอน Erick อายุ 15 ปี เค้าได้ขายบริษัทโดยมีทางเลือกที่จะรับเงิน $100,000 หรือ 300 Bitcoin แน่นอนว่า Erick เลือกรับ Bitcoin

พี่น้อง Winklevoss หรือที่ทุกคนน่าจะรู้จักในฐานะผู้มีส่วนในการริเริ่มไอเดีย Facebook และได้ฟ้อง Mark Zuckerburg จนได้ค่าเสียหายถึง $65M ซึ่งในปี 2014 ทั้งสองได้นำส่วนหนึ่งจำนวนประมาณ $11M ไปลงทุนใน Bitcoin และได้รับผลตอบแทนมากกว่า $1B (1 พันล้านดอลลาร์ หรือ 3 หมื่นล้านบาท) ทำให้ทั้งคู่กลายเป็น Billionaire จาก Bitcoin ไปโดยปริยาย

ดังนั้นข้อ 6 นี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว เพราะเรื่องราวเหล่านี้แหละ ที่ดึงดูดคนมากมายเข้ามาในโลกของ Bitcoin มันทำให้คนไม่อยากพลาด และกล้าที่จะถือเพื่อหวังผลตอบแทนที่อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตเค้าได้เหมือนบุคคลเหล่านี้

ปิดท้าย

สินทรัพย์ที่มีมูลค่า นอกจากพื้นฐานที่ดีแล้ว ยังต้องมีสเน่ห์ที่สามารถดึงดูดนักลงทุน มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจทำให้คนอยากบอกกันต่อ และที่สำคัญ สามารถเข้ากับเทรนด์ในแต่ละยุคสมัยได้อีกด้วย 

ติดตามบทความอีกมากมายได้ที่:

https://www.facebook.com/coinmanth
หรือที่ Telegram Channel ครับ